วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เด็กดีดอทคอม :: เรื่องเผ็ดๆ ของ "พริก"


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า พริกนั้นมีอยู่หลายชนิด เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก เป็นต้น ระดับความเผ็ดก็แตกต่างกันไปอีก ทั้งเผ็ดมากเผ็ดน้อย แล้วแต่ชนิดค่ะ ส่วนที่มาของความเผ็ดนั้น อยู่ที่สารที่มีชื่อว่า "แคปไซซิน" (ccapsaicin) มีชื่อทางเคมีว่า 8-methyl-n-vanillyl-6-noneamide เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พริกเผ็ด เป็นสารธรรมชาติจำพวกอัลคาลอยด์ (alkaloid) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่ให้ความเผ็ดแบบไม่เกรงใจกันเลย โดยจะเกาะอยู่บริเวณเยื่อแกนกลางสีขาว หรือ "รก" ของพริกนั่นเอง ไม่ใช่เผ็ดที่เมล็ดอย่างที่เข้าใจกัน (เมล็ดก็มีแคปไซซิน แต่มีอยู่น้อยมาก) พริกที่ยิ่งมีปริมาณแคปไซซินสูงก็จะยิ่งเผ็ดมากขึ้นค่ะ สำหรับพริกที่ขึ้นชื่อว่าเผ็ดที่สุดในโลก ก็คือ พริกเม็กซิโก ส่วนบ้านเราก็ต้องยกให้ พริกขี้หนู กินทีไร เป็นน้ำหูน้ำตาไหลทุกที T^T

แคปไซซิน เป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกเผ็ดร้อน แค่เอาไปแตะหรือโดนผิวหนังก็ทำให้ปวดแสบ ปวดร้อนได้แล้วเหมือนกัน ที่สำคัญเป็นสารที่มีความทนทานต่อความร้อนและความเย็น ดังนั้นไม่ว่าจะทำยังไง ความเผ็ดก็จะไม่ลดลงแน่นอน แต่มันกลับละลายได้ดีในน้ำมัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อาหารประเภทผัดๆ เนี่ย ใส่พริกทีนึง ก็ฉุนเผ็ดจามไปสามบ้านแปดบ้าน เมื่อเรากินมันเข้าไป แคปไซซินจะทำปฏิกิริยาโดยตรงต่อปากและลำคอ โดยจะไปกระตุ้นปลายประสาทที่อยู่ตามลิ้นและผนังปากของเรา ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเซลล์รับรส เมื่อถูกกระตุ้น มันก็จะส่งสัญญาณไปที่สมอง ก็จะเกิดความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเพราะความเผ็ดนั่นเอง น้องๆ เชื่อมั้ยว่าการกินเผ็ดยังทำให้เรามีความสุขขึ้นด้วย
เพราะทุกครั้งที่เรารู้สึกเผ็ดมากๆ สมองจะตอบสนองและหลั่งสารเอนโดร์ฟินออกมา เพื่อให้เราลืมความเจ็บปวดนั้นไป มิน่าล่ะ..คนที่ชอบกินเผ็ดก็มักจะสรรหาของเผ็ดๆ มากินอยู่เสมอ ที่สำคัญท่าทางการกินของเค้า บ่งบอกได้ว่าอร่อยมากๆ